in Games

Development of Super Mario Bros. 3

Super Mario Bros. 3 หรือที่บ้านเราเรียกกันสั้นๆ ว่า “มาริโอ้ 3” ถือเป็นหนึ่งในเกมภาคต่อที่ดีที่สุดตลอดกาล คือ Super Mario Bros. ภาคแรกก็สร้างประวัติศาสตร์ไปแล้ว แต่นินเทนโดก็ยังผลิตซ้ำความสำเร็จแบบยกระดับขึ้นไปอีกขั้นได้อีก (และทำได้อีกรอบตอน Super Mario World)

สิ่งที่เพิ่งเรียนรู้คือ ทีมงานผู้สร้าง Super Mario Bros. 3 มีเพียง 10-11 คนเท่านั้นเอง เทียบกันไม่ได้เลยกับเกม AAA สมัยนี้ที่ต้องใช้คนหลายร้อยหรือเป็นพัน

การจะเข้าใจเบื้องหลังการพัฒนา ต้องเข้าใจ timeline ของ Super Mario Bros. ก่อน

  • Super Mario Bros. 1 ออกเดือนกันยายน 1985
  • Super Mario Bros. 2 (Japan) ออกเดือนมิถุนายน 1986
    • เกมภาคนี้ภายหลังถูกเรียกว่า Lost Levels แทน ถ้าอธิบายในภาษาสมัยนี้คือ DLC เพิ่มฉาก แต่กราฟิกเหมือนเดิม จากระยะเวลาที่พัฒนาสั้นมาก ก็พอเข้าใจได้ว่าทำไมใช้วิธีนี้
  • Super Mario Bros. 3 ออกเดือนตุลาคม 1988 ใช้เวลาห่างจากภาค 2 นาน 2 ปีกว่าๆ
  • Super Mario World ออกเดือนพฤศจิกายน 1990

เกมทั้ง 3 ภาคพัฒนาโดย Nintendo R&D 4 ทีมพัฒนาที่นำโดย Shigeru Miyamoto ซึ่งในช่วงนั้นก็พัฒนาเกมอื่นอีกหลายเกมควบคู่กันซะด้วย

  • Zelda 1 ออกปี 1986
  • Zelda 2 ออกปี 1987
  • Doki Doki Panic ออกปี 1987 (ถูกนำไปทำเกม Super Mario 2 USA หรือที่คนไทยเรียก มาริโอ้อาละดิน เพราะมีขี่พรมกระมัง)

กระบวนการพัฒนาเกมในยุคนั้นใช้เวลาไม่นานนัก แต่ก็ทำงานกันโหดทีเดียว ใครสนใจแนะนำให้ดูสารคดีของช่อง Game Historian ทำไว้ค่อนข้างดีเลย ทำให้เราเห็นกระบวนการออกแบบฉาก ที่ต้องพล็อตจุดลงกระดาษก่อน แล้วค่อยนำไปให้โปรแกรมเมอร์ใช้ตัวสแกนจุดเข้าไปวาดในคอมพิวเตอร์อีกที

อีกเรื่องที่เพิ่งรู้คือ ตอนแรก Mario 3 อยากทำเป็นเกมมุมมอง 2.5D isometric แต่ภายหลังก็เปลี่ยนใจ เพราะซับซ้อนไปในทางเทคนิค และการควบคุม/มุมมองทำได้ยาก อย่างไรก็ตาม เกม

ไอเดียมาริโอ้แปลงร่างเป็นแรคคูน ก็เป็น compromise ของไอเดียมาริโอ้ขี่ไดโนเสาร์ ที่เป็นไปไม่ได้ในทางเทคนิค (มาเป็นจริงใน Super Mario World ภายหลังบนเครื่อง SFC) จึงหาวิธีแปลงร่างที่อยู่ตรงกลางแทน

อีกประเด็นที่ชอบคือ บริบทของการแข่งขันในธุรกิจเกมญี่ปุ่นยุคนั้น เพราะนินเทนโดเจอคู่แข่งฮาร์ดแวร์ที่ดีกว่าคือ NEC PC-Engine (1987) และ Sega Mega Drive (1988) แต่กว่านินเทนโดจะสามารถพัฒนา Super Famicom มาแข่งได้ทัน ก็ต้องรอถึงปลายปี 1990

ทำให้ Super Mario 3 บน Famicom ต้องทำหน้าที่ “ขัดตาทัพ” ไปพลางๆ ก่อน ซึ่งก็ทำได้สำเร็จ ยอดขายถล่มทลาย แถมนินเทนโดอเมริกายัง “ดึงเช็ง” เอาเกมมาขายในอเมริกาตอนต้นปี 1990 โน่นเลย