in Economics

China Debt Overhang

ภาพประกอบสร้างด้วย Bing Image Creator

ในช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านมา ได้อ่านบทความเกี่ยวกับวิกฤตหนี้ของจีนอยู่หลายชิ้น (ชิ้นของไทยที่ดีมากคือ บทสัมภาษณ์ อ.อาร์ม ตั้งนิรันดร ของ The101.world วันที่ 10 ตุลาคม 2566) เลยมาจดบันทึกความคิดเอาไว้

บทความแรกที่เขียนถึงเป็นของ Martin Sandbu คอลัมนิสต์ด้านเศรษฐกิจของ Financial Times ชื่อชิ้นงานว่า Debt overhang economics with Chinese characteristics เขียนไว้เมื่อ 17 สิงหาคม 2023

Sandbu บอกว่าบทวิเคราะห์ปัญหาของจีน พยายามอธิบายเหตุผลต่างๆ มากมาย แต่ถ้าให้เขาสรุปแบบสั้นที่สุด มันคือปัญหาหนี้ล้นมือ หรือ มีหนี้เยอะเกินไป (debt overhang) หรือจะเรียกว่าเป็นปัญหา การถดถอยทางบัญชีงบดุล (balance sheet recession)

ปัญหานี้เกิดจากภาคอสังหาริมทรัพย์ของจีน ที่มีสัดส่วนเยอะมากในเศรษฐกิจจีน (ประมาณเกือบ 30%) ตั้งแต่ก่อนยุค COVID แล้ว เมื่อคนเป็นเจ้าของอสังหาริมทรัพย์มากขึ้นเรื่อยๆ ตัวมูลค่า (asset) ของอสังหาริมทรัพย์จะไม่สามารถวิ่งตามมูลค่าหนี้ (liability) ที่เกิดจากอสังหาริมทรัพย์ได้ทัน ความมั่งคั่งของผู้คนจะมีน้อยกว่าภาพที่มองเห็น คนจะเข้า defensive mode คือระวังไม่ให้สูญเสียเงินต้น แทนการยอมเสี่ยงเพื่อไม่ให้ตกขบวนรถ

แกนหลักของปัญหาหนี้อสังหาริมทรัพย์ของจีน เกิดจากรัฐบาลท้องถิ่น รัฐบาลมณฑล ที่กู้เงินมาใช้ก่อสร้างโครงการต่างๆ เพื่อขยายการเติบโตทางเศรษฐกิจ เมื่อใดก็ตามที่รัฐบาลท้องถิ่นหยุดลงทุนในโครงการก่อสร้าง เซกเตอร์ก่อสร้างก็จะหยุดเติบโตทันที ในอีกด้าน เจ้าหนี้ที่ให้กู้เงินก็เริ่มสงสัยว่าจะได้เงินคืนหรือไม่ ซึ่งเจ้าหนี้กลุ่มนี้มีทั้งประชาชนโดยตรง และธนาคาร

หากหนี้ส่วนนี้มีปัญหาขึ้นมา ความมั่งคั่งของเจ้าหนี้ประชาชนจะสูญหายไป และ/หรือ เกิดวิกฤตของภาคธนาคาร (banking crisis) ตามมา

วิธีการแก้ปัญหา debt overhang มีด้วยกันทั้งหมด 4 แนวทางที่เป็นไปได้

  1. ไม่ทำอะไรเลย (do nothing) ซึ่งจะเกิดผลลัพธ์ได้ 2 แนวทางย่อย
    1. การเติบโตช้าลง (slow growth) อันนี้เป็นสถานการณ์ดีที่สุด (best)
    2. เศรษฐกิจพินาศ เป็นสถานการณ์แย่ที่สุด (worst)
  2. อัดฉีดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจ (fiscal stimulus) เพื่อเร่งเศรษฐกิจให้โตเร็วแซงหน้าขนาดของหนี้ เพื่อให้หนี้อยู่ในระดับที่จัดการได้ง่ายขึ้น (more manageable) แต่ถ้าหนี้มีขนาดใหญ่เกินไป วิธีนี้จะไม่เวิร์ค
  3. ปรับโครงสร้างหนี้ด้วยการอุ้ม (bailout) การอุ้มแปลว่ารัฐบาลจะจ่ายเงินคืนให้เจ้าหนี้
  4. ปรับโครงสร้างหนี้ด้วยการปล่อยให้ล้มละลาย (writedown) แปลว่าเจ้าหนี้จะสูญเสียเงินไป

วิธีที่ 3/4 เป็นการปรับสัดส่วนของทรัพย์สินและหนี้สินใหม่ (rearranges the liabilities and assets) ให้กลับมาสมดุลมากขึ้นเหมือนกัน แต่วิธีจัดการต่างกัน

Sandbu บอกว่าญี่ปุ่นยุค 1990s, อเมริกายุค 2008, ยุโรปยุค 2010 จัดการปัญหาหนี้ลักษณะเดียวกันไม่ดีนัก คือ ปล่อยปัญหาไว้นานเกินไปกว่าจะเข้ามาแก้ปัญหาหนี้ จนทำให้หนี้สะสมใหญ่ขึ้นมากเกินไป

ส่วนวิธีจัดการก็เลือกใช้วิธีรัฐเข้ามาอุ้ม (bailout) ซึ่งส่งผลให้หนี้สาธารณะ (public debt) ของภาครัฐเยอะตามไปด้วย แทนที่จะเลือกวิธีปล่อยล้มละลาย (writedown) ยอมเจ็บแต่จบจะดีกว่า

ข้อเสนอของ Sandbhu คือรัฐบาลจีนไม่ควรทำพลาดซ้ำรอยชาติเหล่านี้ ควรเข้ามาจัดการให้เร็วด้วยวิธี writedown จะดีที่สุด ต้นทุนรวมของวิธีนี้ถูกกว่าวิธี bailout ช่วยให้เศรษฐกิจจีนกลับมาเติบโตได้เร็วขึ้น อีกทั้งเป็นบทเรียนให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเรียนรู้ว่าควรลงทุนในโครงการอสังหาริมทรัพย์ที่สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจจริงๆ เช่น การสร้างโครงสร้างพื้นฐานให้เมือง แทนการสร้างอพาร์ทเมนต์หรูเพื่อหวังกำไร

สิ่งที่ยากคือรัฐบาลจีนจะเลือกส่งผลของการ writedown ไปยังใครดี ระหว่างรัฐบาลท้องถิ่น, ธนาคาร, นักลงทุน หรือ ภาคครัวเรือน ซึ่งต้องวางแผนการช่วยเหลือให้ดีตั้งแต่ต้น (เช่น ภาคครัวเรือนที่สูญเสียความมั่งคั่งโดยไม่ได้ทำอะไรผิด ก็ต้องหาวิธีชดเชย อย่างน้อยก็กลุ่มเปราะบาง รายได้น้อย)