in Business, Games

Live Services คืออนาคตของวงการเกม

เขียนข่าวผลประกอบการของอุตสาหกรรมเกมมาได้พอนานสมควร แพทเทิร์นของวงการชัดเจนว่า โมเดลการขายเกมแบบดั้งเดิมไม่ใช่วิธีทำเงินหลักอีกแล้ว แต่กลายมาเป็นการหากินกับเกมในฐานะ “บริการ” (services) แทน ซึ่งก็มีวิธีทำเงินแตกต่างกันไป ตั้งแต่สุ่ม loot box, ขาย skin, ขายตัวละคร, battle pass ฯลฯ แล้วแต่ว่าค่ายเกมจะสรรหากันมาได้

ตรงนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่แล้วในยุคนี้ ค่ายเกมหลายๆ ค่ายก็หันมาใช้วิธีเปิดให้เล่นแบบ free-to-play ด้วยซ้ำ คือรายได้จากการขายเกมเป็น 0 เลย ทำเงินจากบริการในเกมล้วนๆ แต่ค่ายเกมดั้งเดิมหลายๆ ค่ายก็ยังขายเกมได้อยู่ (เช่น GTA ที่คนยอมจ่ายเงินซื้อเกม เพื่อมาเล่นออนไลน์)

การมองเกมในฐานะบริการ แม้เป็นสิ่งเดียวกันที่ทุกค่ายมองเห็นและทำอยู่ แต่กลับไม่มีชื่อที่ทุกคนตกลงร่วมกัน แต่ละคนมีวิธีเรียกแตกต่างกันไป

ชื่อเรียกที่ผมชอบคือของ EA ที่เรียกบริการแบบนี้ว่า Live Services แปลเป็นไทยคงพอเรียกได้แบบไม่ตรงเป๊ะๆ ว่า “บริการออนไลน์”

ตัวอย่าง Live Services ที่เด่นชัดที่สุดคือ การขายการ์ดนักเตะของเกม FIFA (ชื่ออย่างเป็นทางการคือ FIFA Ultimate Team หรือ FUT) ที่ทำเงินให้ EA มหาศาล

คำถามที่ตามมาคือ การหาเงินผ่าน Live Services ลักษณะนี้ ทำเงินให้ค่ายเกมมากน้อยเท่าใด เท่าที่หาข้อมูลในผลประกอบการได้ ส่วนใหญ่ก็คือเกินครึ่ง และน่าจะมีสัดส่วนราว 60-70% ของค่ายเกมแล้วด้วยซ้ำ

ตัวเลขของ EA ไตรมาสล่าสุด 1/2021 (source) สีน้ำเงินเข้มคือ Live Services ส่วนสีเทาคือการขายเกมแบบดั้งเดิม (Full Game)

อีกค่ายที่เปิดเผยข้อมูลนี้คือ Take-Two บริษัทแม่ของ 2K และ Rockstar ที่ใช้คำว่า “Recurrent Consumer Spending” (สีแดงในภาพ) ตอนนี้สัดส่วนก็แซง Full Game (สีน้ำเงิน) แล้วเช่นกัน (source)

ค่ายที่มีตัวเลขนี้ไม่เยอะนักคือ Ubisoft ที่ใช้คำว่า Player Recurring Investment (PSI) ตัวเลขของไตรมาสล่าสุดอยู่ที่ 35% (แต่ก่อนหน้านี้อยู่ราว 45%) ที่น้อยกว่าปกติอาจเป็นเพราะรายได้จากการขายเกมในช่วงนี้เยอะพอดี (source)

ในอีกด้าน Ubisoft ถือเป็นสตูดิโอเกมที่ยังเน้นตลาดคอนโซล-พีซีแบบดั้งเดิม มากกว่าการหาเงินจาก mobile games ด้วย (mobile คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 10% ของรายได้)

ลองหาตัวเลขการเงินของค่ายใหญ่อื่นๆ พบว่าไม่ได้แยกส่วนรายได้ออกมา แต่อย่างกรณีของ Activision Blizzard ทิศทางก็เห็นได้ชัดว่าฝั่ง Activision ทุ่มทุกอย่างไปที่ Call of Duty หมดหน้าตักแล้ว และเกมที่เป็น free-to-play อย่าง CoD: Warzone และ CoD: Mobile ก็เติบโตเร็วมาก เมื่อเทียบกับโมเดลขายเกม CoD แบบเก่า

ค่ายเกมที่ทำฮาร์ดแวร์ด้วยคือ Sony, Microsoft, Nintendo มักไม่ค่อยแยกส่วนรายได้ละเอียดมากนัก (ตัวบริการถูกนับรวมกับยอดขายเกม ซึ่งแยกจากฮาร์ดแวร์) แต่กรณีของ Microsoft ที่หันมาดัน Xbox Game Pass สุดตัว ก็ชัดเจนว่ามุ่งไปท่า subscription อีกเช่นกัน