in Knowledge

Imagined Communities ชุมชนจินตกรรม

อย่างที่เขียนไปแล้วว่า กำลังอ่านหนังสือ “รัฐราชาชาติ” ของธงชัย วินิจจะกูล จึงมีบางประเด็นที่อยากตัดมาเขียนแยกต่างหาก ก่อนเขียนถึงตัวหนังสือโดยตรง

รัฐราชาชาติ เป็นการรวมบทความเกี่ยวกับ รัฐ-ชาติ-ชาตินิยม-ราชา ของธงชัยจากที่ต่างๆ จำนวน 8 ชิ้น โดยชิ้นหนึ่งในนั้นคือ อ่าน Imagined Communities ของ Benedict Anderson หรือ IC ของ “ครูเบ็น” ซึ่งเป็นการวิจารณ์หนังสือ Imagined Communities ของ Ben Anderson นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์-มนุษยชาติชื่อดังที่เชี่ยวชาญเรื่องเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเป็นครูโดยตรงของนักวิชาการไทยสายนี้หลายคน

ส่วนตัวมีความสนใจเรื่อง “ชาตินิยม” ยุคใหม่มาได้สักระยะหนึ่งแล้ว หลังเห็นปรากฏการณ์ “คลั่งชาติ” ทั้งในไทยและในต่างประเทศ ปรากฏการณ์ “โลกหมุนขวา” ไม่ว่าจะเป็น Trump, Brexit และอื่นๆ เลยเกิดคำถามและข้อสงสัยว่า ทำไมโลกเราจึงกลับมาให้ความสำคัญกับชาตินิยม

หนังสือเล่มที่ทำให้สนใจเรื่องนี้อย่างจริงจังคือ Why Nationalism ของ Yael Tamir (ซึ่งจะเขียนถึงถ้ามีโอกาส) แต่ก็ทำให้ตระหนักว่า เรามีความรู้เรื่องชาตินิยมในเชิงวิชาการน้อยเกินไป พอค้นไปค้นมาก็มาเจอกับ Imagined Communities เล่มนี้

Imagined Communities หรือ IC เป็นหนังสือเล่มสำคัญในวงการรัฐศาสตร์ (ถึงขั้นมีหน้าเพจใน Wikipedia) โดยกล่าวถึงคอนเซปต์การสร้างชาตินิยม (nationalism) ของรัฐชาติสมัยใหม่ (ในที่นี้คือยุคหลังอาณานิคม) ที่มีมุมมองแตกต่างออกไปจากแนวคิดด้านชาตินิยมในยุคก่อนหน้า

ตัวหนังสือ IC มีแปลภาษาไทยโดยใช้ชื่อว่า “ชุมชนจินตกรรม” (ฉบับพิมพ์คงหายากมากแล้ว แต่ฉบับไฟล์ยังมีให้ดาวน์โหลด) มิตรสหายในแวดวงวิชาการแนะนำมาว่า ค่อนข้างอ่านยาก ถ้าต้องการแค่จับประเด็นเฉยๆ ให้อ่านบทความสรุปของนักวิชาการคนอื่นๆ (เช่น ธงชัยหรือเกษียร) ก็พอ

ข้อเสนอของ Ben Anderson คือ “ชาติ” เป็นแนวคิดที่เพิ่งเกิดขึ้นมาใหม่ในยุคสมัยหลังๆ ที่ “ศาสนา” เริ่มไม่มีอิทธิพลต่อวิถีชีวิตของคนเหมือนในอดีตแล้ว (ในบริบทของยุโรปเป็นหลัก)

แกนหลักสำคัญของ Anderson คือ “ชาติ” ไม่มีอยู่จริง และเป็นสิ่งที่ “ชุมชน” ร่วมกันจินตนาการ ขึ้นมา (nation as an imagined political community) โดยมีเครื่องมือในการสร้างชาติให้เป็นเอกภาพคือ “ภาษา” แบบสมัยใหม่ที่มีมาตรฐานกลางเดียวกัน (ภาษากลางของประเทศ ไม่ใช่ภาษาเฉพาะชนเผ่า) และเรื่องเล่าหรือวรรณกรรมแบบใหม่ๆ ที่ทำให้คนรู้สึกเป็นเจ้าของชาติร่วมกัน

อีกประเด็นที่ Anderson ชี้ให้เห็นคือ พัฒนาการของสิ่งพิมพ์ในเชิงทุนนิยม (print capitalism) ที่ทำให้คนจำนวนมากที่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อน เข้าถึงเรื่องเล่าหรืออัตลักษณ์เดียวกันได้ (ผ่านการอ่านสื่อ หนังสือ หนังสือพิมพ์ร่วมกัน ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นในยุคก่อนหน้า) ความรู้สึกร่วมของความเป็นชาติจึงไปไกลกว่ารัฐในอดีต

ความสำคัญของทุนนิยมการพิมพ์ ยังมีบทบาทในเรื่องกรอบเวลายุคใหม่ (simultaneity-across-time เหตุเกิดพร้อมกันในขณะเดียวกัน) ซึ่งเราคุ้นเคยกันในปัจจุบัน ที่แตกต่างจาก (simultaneity-along-time อดีต ปัจจุบัน อนาคตเกิดขึ้นพร้อมกัน) ที่คนในอดีตคุ้นเคย

เรื่องนี้เป็นสิ่งที่เข้าใจยากที่สุดเพราะมีความเป็นปรัชญาสูง ธงชัยแนะนำให้ไปอ่านคำอธิบายของเกษียร ซึ่งตามไปอ่านแล้ว เกษียรอธิบายแบบเข้าใจง่ายๆ ว่า กรอบการมองเวลาแบบในอดีตคือ “พรหมลิขิต” ผลไม่ได้เกิดจากเหตุที่กระทำ แต่ทุกอย่างเกิดจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่มีอำนาจเหนือโลก ดลบันดาลให้ผลเกิดขึ้นตั้งแต่แรก โดยไม่ต้องมีเหตุที่เกี่ยวข้องกัน

บทความของธงชัยวิจารณ์ IC ไว้หลายมิติ ตั้งแต่ในเชิงวิชาการรัฐศาสตร์ โดยรวบรวมมุมมองจากหนังสือเล่มอื่นในยุคเดียวกันที่มีแนวคิดแตกต่างจาก IC, ในเชิงการแปลภาษาไทย การเลือกศัพท์ที่อาจเข้าใจยากในบางมุม (เป็นการวิจารณ์สไตล์แบบธงชัยคือจะออกบ่นๆ ไปเรื่อยๆ 555)

สิ่งสำคัญคงเป็นความเห็นของธงชัยต่อ IC ในวงการชาตินิยมไทย ที่มองว่าการศึกษาเรื่องชาตินิยมในไทยก็ไม่ได้กว้างขวางมากนัก และเอาเข้าจริงแล้ว ถ้าไม่ใช่ชาตินิยมตามแบบฉบับทางการ (เช่น แบบ ร.6 หรือ หลวงวิจิตร “ชาติ-ศาสน์-กษัตริย์”) ประเทศไทยเองก็ไม่มีข้อเสนอ “ชาตินิยมทางเลือกอื่น” สักเท่าไรเช่นกัน (ธงชัยวิจารณ์ว่า มีนักวิชาการฝ่ายทวนกระแส พยายามเสนอ “ชาตินิยมของประชาชน” เป็นคู่ตรงข้ามกับชาตินิยมในแบบฉบับ แต่ก็ไม่รู้ว่ามันคืออะไรกันแน่ในทางปฏิบัติ)

กล่าวโดยสรุปคือ ชาตินิยมไทยในยุคใหม่ควรเป็นอย่างไร ตอนนี้คงยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจนนัก (แต่พอบอกได้กว้างๆ ว่าคงจะ “สากล” ขึ้นกว่าในปัจจุบัน) และคงต้องใช้เวลาอีกนานกว่าสังคมจะตกผลึกร่วมกันได้

การศึกษา IC หรืองานวิชาการชิ้นสำคัญอื่นๆ ย่อมช่วยให้เรามีเครื่องมือในการวิเคราะห์ปัจจัยต่างๆ ได้อย่างแหลมคมมากขึ้น เพื่อนำไปสังเคราะห์ “ชาตินิยมยุคใหม่” ได้ดีขึ้นด้วยนั่นเอง

เพิ่มเติม IC ถือเป็นหนังสือเล่มสำคัญ และมีนักวิชาการไทยหลายคนพูดถึง-วิจารณ์ในมุมมองของตัวเองไว้มากมาย ตัวอย่างงานที่หาเจอในอินเทอร์เน็ต และสามารถนำไปศึกษาต่อได้

ภาพปกหนังสือ Imagined Communities ฉบับ Third Edition จาก Amazon