in Economics

สินค้าส่งออกของอเมริกาคือ เงินเฟ้อ

อ่านบทวิเคราะห์เรื่องสถานการณ์เงินเฟ้อโลก ก็ค่อนข้างประทับใจบทความของ Bloomberg ที่บอกว่าเงินเฟ้อของอเมริกา เป็นสิ่งที่อเมริกาส่งออก (ไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ) ไปทั่วโลก

บทความเริ่มด้วยการบอกว่า พลังการบริโภคของสหรัฐอเมริกา (ประชากร 330 ล้านคน ที่มีกำลังซื้อสูง) คือ “เดอะแบก” ที่คอยค้ำยันเศรษฐกิจโลกมาแล้วหลายสมัย ไม่ว่าประเทศไหนมีปัญหาอะไร ส่งสินค้า (goods) และบริการ (services) มาขายคนอเมริกันให้ช่วยซื้อได้

ในยุคก่อนโรคระบาด โลกเจอปัญหาว่ามีซัพพลายของสินค้ามากกว่าดีมานด์ ผลิตของมาแล้วหาคนซื้อไม่ได้ สุดท้ายก็ได้พลังผู้บริโภคอเมริกา (ตลาดผู้ซื้อที่ใหญ่ที่สุดในโลก) ช่วยซื้อให้ ซึ่งเป็นแบบนี้มาโดยตลอด

แต่ในยุคโรคระบาด คนทั่วโลกหยุดซื้อ “บริการ” (เช่น โรงแรม ที่พัก สปา ยิม) และเปลี่ยนมาซื้อ “สินค้า” กันเยอะขึ้นแทน ไม่ว่าจะเป็นคอมพิวเตอร์ เกมคอนโซล ทีวี สินค้าหรูหราต่างๆ เพื่อใช้ในบ้าน แทนการออกไปบริโภคใช้จ่ายนอกบ้าน แต่สัดส่วนการบริโภค “สินค้า” ของอเมริกาเยอะกว่าประเทศ G-7 อื่นๆ มาก

ภาวะข้างต้นทำให้ธุรกิจค้าปลีกของอเมริกา เช่น Walmart, Target สต๊อกสินค้าเพิ่มขึ้น การที่สินค้าโดนกว้านซื้อจากดีมานด์ของร้านค้าปลีก และปริมาณซัพพลายน้อยอยู่แล้วจากโรคระบาด (เช่น จีนปิดโรงงาน) ทำให้ราคาสินค้าพุ่งขึ้น “ทั่วโลก” ไม่ใช่แค่ในอเมริกา

ผลคือทั่วโลกเกิดภาวะเงินเฟ้อ (inflation) จากราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้น เพราะความต้องการซื้อของอเมริกา

ภาวะนี้กลับหัวจากโลกยุคก่อนโรคระบาด ที่มีกำลังซื้อน้อยเกินไป (too little demand) เปลี่ยนมาเป็นมีซัพพลายน้อยเกินไป (too little supply) แทน

สิ่งที่อเมริกากำลังทำอยู่คือ ชะลอการบริโภคด้วยนโยบายการเงิน (monetary policy) ด้วยการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลาง (Fed) เพื่อชะลอเงินเฟ้อในประเทศ

แต่มันกลับสร้างปัญหาให้ประเทศอื่นๆ อีกเด้ง นั่นคือ ดอลลาร์แพงขึ้นมาก

เหตุผลเป็นเพราะ Fed ขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเร็วกว่าประเทศพัฒนาแล้วอื่นๆ (เช่น Eurozone) ทำให้เงินวิ่งไหลกลับเข้าอเมริกาเพื่อไปเอาดอกเบี้ยที่ดีกว่า ดอลลาร์เลยแข็ง เงินสกุลอื่นทั้งหมดจึงอ่อน

แต่โลกนอกอเมริกา ดันต้องซื้อสินค้าด้วยเงินดอลลาร์ (โดยเฉพาะน้ำมัน) เมื่ออเมริกาแก้เงินเฟ้อด้วยการขึ้นดอกเบี้ย (แต่ดอลลาร์มูลค่าภายในประเทศเท่าเดิม) ประเทศอื่นจึงโดนเงินเฟ้อซ้ำซ้อนไปอีก จากดอลลาร์แพงขึ้นเมื่อเทียบกับเงินสกุลอื่น

นอกจากนี้ยังมีปัญหาเรื่องซัพพลายเชนจากที่อื่นๆ ในโลก เช่น สงครามยูเครนทำให้น้ำมัน-โภคภัณฑ์แพงขึ้น, ปัญหาโรคระบาดในจีนจนต้องปิดโรงงานชั่วคราว

สถานการณ์เงินเฟ้อในสหรัฐและยุโรปนั้นแตกต่างกัน สหรัฐมีปัจจัยหลักมาจากดีมานด์ครัวเรือนสูง (ต้องการซื้อสินค้าและบริการเยอะ) ซึ่งแก้ด้วยดอกเบี้ยนโยบาย แต่ยุโรปไม่ได้มีดีมานด์สินค้าสูงแบบเดียวกัน กลับมีปัญหาเรื่องซัพพลายพลังงานน้อยลง (จากรัสเซีย) ทำให้เงินเฟ้อจากพลังงานแพงขึ้น ส่วนเอเชียก็มีปัญหาคล้ายๆ ยุโรป (ต้องพึ่งพาพลังงานจากภายนอก) แต่ไม่เยอะเท่า

สถานการณ์นี้ทำให้อเมริกาได้เปรียบประเทศอื่นๆ มาก ในขณะที่ประเทศอื่นโดนทั้งซัพพลายขาด น้ำมันแพง (สองอันนี้โดนทั้งโลก) พ่วงด้วยดอลลาร์แพง และไม่สามารถขึ้นดอกเบี้ยได้เยอะเท่าอเมริกา เพราะเศรษฐกิจไม่เข้มแข็งเท่า ช่องว่างนี้ก็จะถ่างออกไปเรื่อยๆ และยังไม่มีใครรู้ว่าจะจบลงอย่างไร

ภาพประกอบจากเพจ USS Gerald R. Ford